กรมพัฒนาธุรกิจการค้าคุมเข้ม ให้ร้านค้าออนไลน์ต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

ช่วงนี้ ร้านค้าออนไลน์เปิดใหม่มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลากหลายช่องทาง เช่นทางเว็บไซต์ตัวเอง เว็บไซต์ e-commerce และล่าสุดคือทาง Social Network อย่าง facebook และ Instagram ซึ่งเป็นช่องทางที่นิยมอย่างมาก แต่ปัญหาคือ การหลอกลวงก็มีเยอะ ทำให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ออกมาคุมเข้มร้านค้าออนไลน์ โดยให้ร้านค้าแจ้งให้ไปจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ อย่างถูกกฏหมาย ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ประกอบธุรกิจ  ซึ่งเรื่องนี้หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบ

สถิติตัวเลขผู้ขายออนไลน์จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า  พบว่า มีผู้ขายออนไลน์ในไทยสูงถึง 1 ล้าน 5 พันราย แต่   ตัวเลขการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ มีเพียงแค่ 13,000 รายเท่านั้น

dbd-trushmark-control-onlineshop-registed

คุณวิชัย โภชนกิจ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ให้ข้อมูลว่า การที่บังคับให้ร้านค้าออนไลน์มาลงทะเบียนนี้ ก็เป็นการบังคับใช้กฏหมาย พ.ร.บ. ทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. 2499 เพื่อให้สามารถระบุตัวตนของผู้ประกอบการร้านค้าออนไลน์ได้อย่างชัดเจน และเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับลูกค้า เนื่องจากในปัจจุบัน การถูกโกง ถูกหลอกลวงจากการค้าออนไลน์เกิดขึ้นบ่อยๆ

“ต่อไปถ้าไม่จดทะเบียนให้ถูกต้อง จะถือเป็นคนขายสินค้าเถื่อน เป็นเว็บไซต์เถื่อน ไม่น่าเชื่อถือ เพราะระบุตัวตนไม่ได้ ผู้บริโภคก็ไม่ควรให้ความเชื่อถือในการเข้าไปเลือกซื้อสินค้า ซึ่งเป็นมาตรการที่ช่วยป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบ และถูกโกง เพราะไม่มีหลักประกันอันใดในการพิสูจน์ว่าคนขายตั้งใจทำธุรกิจออนไลน์จริง แต่ถ้ามาจดทะเบียนอย่างถูกต้องจะถือเป็นผู้ที่มีความตั้งใจที่จะทำธุรกิจ และผู้บริโภคเชื่อถือได้” คุณวิชัย โภชนกิจ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าว

ทั้งนี้ท่านรองอธิบดีก็ชี้แจงว่าทางกรม ไม่ได้ต้องการเข้าไปควบคุมผู้ขาย แต่ต้องการช่วยพัฒนาธุรกิจ E-commerce เดินหน้าไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากหากผู้ซื้อไม่สามารถไว้ใจผู้ขายได้ ก็จะกระทบไปยังผู้ขายรายอื่นๆที่มีการจดทะเบียนแล้วค่ะ ซึ่งถ้าหากมีการลงทะเบียนร้านค้าออนไลน์ ผู้ซื้อก็จะสบายใจในการสั่งซื้อขึ้น

“สำหรับผู้ขายออนไลน์ ที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน ทั้งคนที่มีเวปไซต์เปิดเป็นร้านค้าของตัวเอง รวมถึงคนที่เปิดร้านขายเป็นจริงเป็นจัง รวมถึงร้านขายบน Social Network เช่น facebook, Instagram ต้องไปจดทะเบียนพาณิชย์ และนำเลขทะเบียนแสดงบนหน้าร้านค้าออนไลน์ด้วย”

เอกสารที่ใช้จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ดังนี้
(หรือคลิกที่นี่เพื่อดูลิงค์ดาวน์โหลดเอกสารต่างๆ) 

  1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของผู้ประกอบพาณิชยกิจ
  2. แบบคำขอจดทะเบียนพาณิชย์ (แบบ ทพ.)
  3. รายละเอียดเกี่ยวกับเว็บไซต์ (เอกสารแนบ แบบ ทพ.) กรอก 1 ใบ ต่อ 1 เว็บไซต์
  4. เอกสารการจดโดเมนเนม (กรณีที่มีเว็บไซต์ และชื่อผู้จดทะเบียนโดเมนเนม ต้องเป็นชื่อผู้ประกอบการที่จดทะเบียนพาณิชย์)
  5. Print หน้าแรกของเว็บไซต์ , สินค้า/บริการที่ประกอบพาณิชยกิจ และวิธีการสั่งซื้อสินค้า/บริการ วิธีการชำระเงิน วิธีการส่งสินค้า
  6. แผนที่ตั้งการประกอบพาณิชยกิจ
  7. หนังสือรับรองการจดทะเบียนของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท (กรณีจดในนามนิติบุคคล)
  8. หนังสือมอบอำนาจ พร้อมติดอากรแสตมป์ 10 บาท และสำเนาบัตรประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ (กรณีมอบอำนาจ)

กรณีผู้ประกอบพาณิชยกิจมิได้เจ้าบ้าน

  1. หนังสือยินยอมให้ใช้สถานที่ หรือ สัญญาเช่า
  2. สำเนาบัตรประชาชนเจ้าของสถานที่ พร้อมสำเนาทะเบียนบ้าน หรือ เอกสารสิทธิ์ที่แสดงว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์

กรณีนิติบุคคลต่างประเทศ เข้ามาตั้งสาขาดำเนินกิจการในประเทศไทย ให้แนบเอกสารเพิ่มเติม ดังนี้

  1. สำเนาเอกสารแสดงการจดทะเบียนนิติบุคคล
  2. หนังสือแต่งตั้งผู้ดำเนินกิจการในประเทศไทย

2.1 ใบอนุญาตทำงาน (กรณีผู้ดำเนินกิจการเป็นคนต่างด้าว)

2.2 ใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว หรือหนังสือรับรองการใช้สิทธิ (ถ้ามี)

แล้วไปจดทะเบียนพาณิชยอิเล็กทรอนิกส์ ได้ ตามสถานที่ดังนี้

  1. สำนักงานแห่งใหญ่ของสถานประกอบการตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ให้ยื่นที่ สำนักงานเขตที่สำนักงานใหญ่ที่ตั้งอยู่ในเขตท้องที่
  2. สำนักงานแห่งใหญ่ของสถานประกอบการตั้งอยู่ในต่างจังหวัด ให้ยื่นที่ สำนักงานทะเบียนพาณิชย์เมืองพัทยา เทศบาล หรือองค์การบริการส่วนตำบลที่สำนักงานใหญ่ที่ตั้งอยู่ในเขตท้องที่
  3. ถ้าสำนักงานแห่งใหญ่ของผู้ประกอบพาณิชยกิจตั้งอยู่ในต่างประเทศ และมาตั้งสำนักงานสาขาเพื่อประกอบพาณิชยกิจในประเทศไทย สำนักงานแห่งใหญ่ตั้งในเขตท้องที่รับผิดชอบของสำนักงานทะเบียนพาณิชย์ใดก็ให้จดทะเบียน ณ สำนักงานทะเบียนพาณิชย์ในเขตท้องที่นั้น

ทั้งนี้มีข้อกำหนดการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ คือ

  1. การยื่นคำขอจดทะเบียนพาณิชย์ 1 คำขอต่อ 1 เว็บไซต์ หรือ ร้านค้าออนไลน์
  2. ต้องมีร้านค้าออนไลน์แล้ว โดยมิใช่มีแต่ชื่อเว็บไซต์ หรือ ชื่อร้านค้า
  3. เป็นร้านค้าหรือประกอบพาณิชยกิจพาณิชยอิเล็กทรอนิกส์ 4 ประเภทตามที่กฎหมายกำหนด
  4. ไม่ใช่เว็บไซต์หรือสื่อออนไลน์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ หรือให้ข้อมูลเท่านั้น โดยไม่สามารถซื้อขายผ่านทางเว็บไซต์หรือสื่อออนไลน์นั้น ๆ
  5. การซื้อขายสินค้า/บริการผ่านทางเว็บไซต์หรือ Social Media เช่น Facebook ที่เป็นการทำการค้าโดยปกติ ถือเป็นการซื้อขายผ่านทางอินเตอร์เน็ต ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ และนำเลขทะเบียนแสดงบนหน้าร้านค้าออนไลน์ 
  6. กรมฯ จะอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรอง DBD Registered เฉพาะร้านค้าออนไลน์ที่เป็นเว็บไซต์และมีโดเมนเนมเป็นของตนเอง ไม่รวมสื่อออนไลน์อื่น

 ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนพาณิชย์

  • – จดทะเบียนพาณิชย์ตั้งใหม่ 50 บาท
  • – จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียน ครั้งละ 20 บาท
  • – จดทะเบียนเลิกประกอบพาณิชยกิจ 20 บาท

dbd-logo-online-shopping-registed

หน้าตาสัญลักษณ์ร้านค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แล้ว

dbd-logo-online-shopping-registed-2

เมื่อคลิกแล้วจะแสดงรายละเอียดการจดทะเบียนของเว็บ เช่นชื่อบริษัท ที่ตั้ง และข้อมูลรายละเอียดที่สำคัญ ดังนั้นต้องคลิกที่โลโก้ด้วย ดูด้วยว่าปรากฎหน้านี้หรือเปล่า

เมื่อจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เรียบร้อยแล้ว กรณีเป็นเวปไซต์ ก็จะได้รับสัญลักษณ์ยืนยัน DBD register และ DBD verify มาแปะที่หน้าเว็บ ทำให้เว็บดูน่าเชื่อถือมากขึ้น ทั้งนี้สำหรับผู้ซื้อ ก็สามารถสังเกตที่สัญลักษณ์  DBD register และ DBD verify ก่อนตัดสินใจซื้อ ซึ่งทำให้เกิดความมั่นใจขึ้นว่า เว็บนี้ไม่ถูกหลอกแน่

ดาวน์โหลดเอกสารต่างๆประกอบการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ คลิกที่นี่